อย่ากลัวที่จะกอดเม่นตัวนั้น 2025#01

อย่ากลัวที่จะกอดเม่นตัวนั้น 2025#01

เคยไหมครับที่ต้องรับมือกับคนที่ทำตัวเหมือน ‘เม่น’ ที่มักจะพองขนใส่เราจนเราไม่รู้ว่าจะเข้าหาอย่างไรผมหยิบหนังสือนี้ขึ้นมาโดยคิดว่าจะได้เพียงวิธีการเข้าหาคนที่รับมือยาก แต่หนังสือเล่มนี้กลับให้อะไรมากกว่าที่ผมคิดไว้ ข้อคิด 12 ข้อที่ได้จากหนังสือ อย่ากลัวที่จะกอดเม่นตัวนั้น

1/12 เข้าใจก่อนว่าทำไมคนๆนั้นถึงเป็น ‘เม่น’ หรือ ขี้เหวี่ยง คนที่มีพฤติกรรมแบบ “เม่น” มักมาจากความกลัวเมื่อถูกข่มขู่หรือถูกโจมตี ถ้าเราเข้าใจว่าทำไมเขาถึงมีกลไกป้องกันตัวเองแบบนี้เราจะสามารถตอบสนองด้วยความเข้าใจแทนความหงุดหงิดได้

2/12 ตั้งขอบเขตที่ชัดเจนเคารพขอบเขตของเม่นและเข้าใจความกลัวของ “เม่น” ของคุณ แม้แต่เม่นก็มีจุดอ่อนที่ท้องของมัน หากคุณมองหาจุดอ่อน ที่จะทำให้ “เม่น” ของคุณยิ้มออกมาได้แทนที่จะพองขนใส่คุณ หรือถามตัวเองว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรภายใต้ขนแหลมๆ พวกนั้น คุณจะเข้าใจเม่นและรับมือได้ง่ายขึ้น

3/12 อย่าถือเป็นเรื่องส่วนตัว คุณต้องเข้าใจว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เม่นอาจจะไม่ได้อารมณ์บูดเพราะคุณ หรือ เกี่ยวกับคุณน้อยมาก (ถึงแม้คุณจะเป็นตัวกระตุ้นก็ตาม) ดังนั้น หากคุณตระหนักได้ว่าความก้าวร้าวของเม่นมาจากเหตุใดคุณจะรักษาพลังงานไว้หาทางออกง่ายขึ้น

4/12 หลีกเลี่ยงแม่นแปลกหน้า สนใจแค่เม่นของคุณก็พอแล้ว เช่น หากคุณเจอเพื่อนร่วมถนนหัวร้อนใส่ หรือ เจอพนักงานร้านสะดวกซื้อหน้าบูดกระแทกเสียงใส่คุณควรเพิกเฉยและเก็บแรงไว้รับมือกับเม่นของคุณดีกว่า

5/12 วางแผนไว้ก่อน อย่าโมโห อย่าหงุดหงิด ความอดทนอดกลั้นคือสมบัติอันล้ำค่าของคุณ หาก “เม่น” กำลังอาละวาด ปล่อยให้ “เม่น” อาละวาดไปคุณควรหายใจลึกๆ ใช้ความสงบและปัญญา ในการมองว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ “เม่น” ของคุณอารมณ์เสีย

6/12 คุมอารมณ์ให้อยู่ หากคุณกำลังอยู่ในบทสนทนาอันเกรี้ยวกราด ต่างคนต่างพูดสิ่งที่ไม่ควรพูดเข้าใส่กัน คุณควร หยุด! คุณคงไม่วิ่งเข้าใส่วัวที่กำลังคลั่งพร้อมกับสะบัดธงสีแดงหรอกใช่ไหม? ดังนั้น หยุดก่อน รอสักหน่อย รอจนอะไรๆสงบลงก่อนแล้วค่อยทำอะไรต่อไป

7/12 เม่นมีหลากหลายรูปแบบ เม่นที่บ้าน เช่น เม่นที่เป็นคู่ชีวิต เม่นที่เป็นผู้ปกครอง เม่นที่เป็นลูก เม่นที่ทำงาน เช่น เพื่อนร่วมงานที่ทำงานด้วยยาก หัวหน้าที่ชอบขึ้นเสียงใส่ลูกน้อง ลูกค้าขี้บ่นที่บ่นไม่หยุด ลูกน้องที่ชอบทำเสียงแข็งใส่คุณเวลาคุณ พยายามทำงานด้วย

8/12 ใช้อารมณ์ขัน หัวเราะอย่าขึ้นเสียง ในสถานการณ์ยากๆ พยายามมองหามุมที่ขำๆ ของสถานการณ์นี้ และ ถ้าคุณเห็นแววจะต้องปะทะแน่ ขอให้คุณลองพยายามพูดอะไรตลกๆ แค่พอให้ยิ้มได้ นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่คุณสองคนต้องการในสถานการณ์ที่กำลังจะก่อให้เกิดความขัดแย้งก็ได้

9/12 ฟังให้มากพอๆ กับพูด จงสะกัดกั้นความรู้สึกที่อยากจะได้ยินแต่เสียงของตัวเอง ให้เม่นของคุณได้มีโอกาสพูดด้วย ไม่ใช่แค่บ่นอยู่ฝ่ายเดี่ยวแต่ฟังนานเท่าที่เม่นของคุณอยากจะให้คุณฟัง

10/12 เม่นมีอยู่ทุกที่ อย่าที่ผมได้สรุปไว้ว่า อย่าใส่ใจเม่นแปลกหน้าแต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณรับมือกับเม่นเหล่านี้ได้ด้วยการใช้ถ้อยคำในการสนทนาที่อ่อนโยน อย่าโทษตัวเองที่เจอสถานการณ์ที่ไม่ดี พลังงานแย่ๆมาจาก “เม่น” ตัวนั้น ไม่ได้มาจากคุณซักหน่อย รู้ตัวว่าเมื่อไหร่ควรเดินออกมาซะ

11/12 เม่นในตัวคุณ มาถึงจุดนี้คุณจะเข้าใจว่าในใจคุณเองก็มีเม่นอยู่ คุณต้องรู้พฤติกรรมป้องกันตัวเองของคุณ ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง จงใจดีกับตัวเองแต่ซื่อสัตย์ว่าคุณเองก็อาจมีพฤติกรรมที่พองขนแบบ “เม่น” อยู่เหมือนกัน บางคนบ่น บางคนโวยวาย แต่เราต่างก็มีพฤติกรรมป้องกันตนเองอยู่

12/12 ชีวิตเราสั้นนัก เวลานั้นมีค่ายิ่ง น่าเสียดายถ้าเราจะหมดเปลืองเวลาไปกับการป้องกันตัวและโจมตีคนอื่น หรือจะเสียเวลาไปกับความโกรธและความกลัว แทนที่จะทำเช่นนั้น เราควรฝึกความอดทน และเรียนรู้ที่จะโอบกอดเม่นตัวนั้นไว้